รางวัลชมเชย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.1, KR 1.2.3

ปีการศึกษา 2565

รูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21
ผศ.ดร.วิมลรัตน์ บุญเสถียร
ผู้จัดทำโครงการ

ผศ.ดร. วิมลรัตน์ บุญเสถียร
คณะพยาบาลศาสตร์

หลักการและเหตุผล

         วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุคคลซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต้องถูกต้องแม่นยำและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด การจัดการเรียนรู้ของวิชาชีพส่วนใหญ่จึงมีชั่วโมงการฝึกปฏิบัติทั้งในห้องปฏิบัติการและสถานการณ์จริงมากกว่าการเรียนภาคทฤษฎี โดยมุ่งหวังให้นักศึกษามีความความรู้ มีทักษะที่จำเป็นทางวิชาชีพ และมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของพยาบาลยุคปัจจุบันตามที่ปรากฎในหลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565 ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารทั้งเชิงวิชาชีพและสังคม การเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพให้กับผู้รับบริการ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ผ่านมาแม้จะมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติเป็นระยะ จนนักศึกษามีความรู้และทักษะจำเป็นทางวิชาชีพที่สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามมาตรฐาน แต่การพัฒนาสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรยังไม่ชัดเจน นักศึกษาจำนวนมากเป็นผู้ตามที่ดี แม้มีความรู้ความคิดและตัดสินใจทางคลินิกในระดับหนึ่ง แต่ขาดความมั่นใจในการสะท้อนคิดหรืออภิปรายร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากกังวลเรื่องความถูกผิดของความคิดเห็น นอกจากนี้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมและความบันเทิง จึงจำเป็นต้องเพิ่มการเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อให้เข้าใจ รู้เท่าทันข้อมูล รู้แหล่งค้นหา เลือกใช้ข้อมูลและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม

ประเภทความรู้และที่มาของความรู้
วิธีการดำเนินการ

อาจารย์สอนภาคปฏิบัติคณะพยาบาลศาสตร์ได้ร่วมกันปรับรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติ โดยมุ่งหวังให้นักศึกษามีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพิ่มเติมจากสมรรถนะที่จำเป็นทางวิชาชีพ ดังนี้
1. นำเสนอแนวคิดและแผนการพัฒนารูปแบบการสอนภาคปฏิบัติ เพื่อพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะพยาบาลศาสตร์
2. ชี้แจงรายละเอียด แผน การดำเนินงาน และบทบาทหน้าที่รับผิดชอบตามตำแหน่ง (รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหลักสูตร ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และอาจารย์แต่ละสาขา) ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตร
3. จัดเสวนาจำนวน 5 ครั้ง ดังนี้
    ครั้งที่ 1 ย้อนรอยการจัดการเรียนการสอน เพื่อถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่ผ่านมา และวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาแนวทางการพัฒนาต่อไป
    ครั้งที่ 2 ติดปีก… การจัดการเรียนการสอน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการจัดการเรียนการสอน และนำประเด็นการจัดการเรียนการสอนที่ได้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของแต่ละสาขาวิชา
    ครั้งที่ 3 การสร้าง competency และการวางกลยุทธ์การสอน เพื่อนำความรู้มาใช้ในการออกแบบการสอนภาคปฏิบัติ ให้นักศึกษามีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
    ครั้งที่ 4 โมเดลการเรียนรู้นอกกรอบ… สู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการนำเสนอรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติของแต่ละสาขา ที่มุ่งสร้างสมรรถนะด้านการตัดสินใจทางคลินิก การสื่อสารเชิงวิชาชีพและเชิงสังคม เทคโนโลยีดิจิทัล ภาวะผู้นำและการนำการเปลี่ยนแปลงให้แก่นักศึกษา หลังการนำเสนอมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสู่การทดลองใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นในวิชาที่สาขาเลือก 1 รายวิชา ที่เปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565
    ครั้งที่ 5 ผลลัพธ์การทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้… สู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการนำเสนอผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แต่ละสาขาพัฒนาขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้นำสู่การปรับ/พัฒนารูปแบบการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษา รวมทั้งปรับ/พัฒนาแบบประเมินผลที่เหมาะสมต่อไป
ก่อนการเสวนาแต่ละครั้งจะมีการดำเนินการ ดังนี้
    3.1 ประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง วิธีดำเนินการ กำหนดการ และผู้รับผิดชอบ ในคณะกรรมการบริหารหลักสูตร
    3.2 ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้อาจารย์ในคณะฯ ทราบผ่านที่ประชุมและไลน์กลุ่ม
    3.3 มอบโจทย์ให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์แต่ละสาขา ประชุมระดมความคิดเห็น หรือดำเนินการตามที่กำหนด
    3.4 แต่ละสาขาสรุปข้อมูลและเตรียมการนำเสนอในการเสวนา
เมื่อเสร็จสิ้นการเสวนาแต่ละครั้ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการจะสรุปข้อมูลและผลการประเมินเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ
4. ถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่เหมาะสมในการสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ก่อนเผยแพร่ให้อาจารย์แต่ละสาขานำไปทดลองใช้ และประเมินผลเพื่อการพัฒนาในปีการศึกษาต่อไป 

ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาที่นำเสนอในการเสวนาครั้งที่ 4 มีความหลากหลายเนื่องจากมีรากฐานการพัฒนามาจากหลายแนวคิด จึงมีจุดเด่น และประเมินผลในประเด็นต่างกัน ดังนี้
1. กลุ่มวิชาพื้นฐานและเสริมการพยาบาล พัฒนารูปแบบการสอนจากแนวคิดการสร้างพลังอำนาจ โดยกำหนด Structure empowerment (รูปแบบการสอน การเสริมแรง/ให้กำลังใจ สื่อการเรียนรู้ การให้โอกาส) และกลยุทธ์ เพื่อสร้างพลังอำนาจให้แก่นักศึกษา (Psychological empowerment) นำสู่ผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ได้แก่ แบบวัดเจตคติต่อการปฏิบัติการพยาบาล และแบบประเมินการรับรู้ความสามารถในการปฏิบัติของตนเอง ผลการประเมิน พบว่า คะแนนเจตคติต่อการปฏิบัติการพยาบาลก่อนและหลังทดลองใช้รูปแบบไม่แตกต่างกัน คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลของตนเองในภาพรวมและทักษะรายข้อ อยู่ในระดับดี (คะแนนระหว่าง 3.51-4.50) ในส่วนทักษะศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังเกิดขึ้นไม่ชัดเจน จำเป็นต้องพัฒนาต่อเนื่องในรายวิชาอื่น
2. สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พัฒนา TRIC-PRO model ซึ่งประยุกต์จากกรอบความคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การดำเนินงานผ่านการสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางการพยาบาลที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยอาจารย์มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา และใช้เทคนิคสะท้อนคิด เพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษามีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินการสร้างนวัตกรรมทางการพยาบาล ยังขาดเครื่องมือในการประเมินสมรรถนะอื่นตามที่หลักสูตรกำหนด ผลการประเมิน พบว่า มีสิ่งประดิษฐ์ทางการพยาบาลที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายชิ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง อย่างไรก็ตามการประเมินผลทักษะศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังไม่ชัดเจน
3. สาขาการพยาบาลมารดาทารกและผดุงครรภ์ พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ Case method ในรายวิชาทฤษฎี ต่อเนื่องไปยังวิชาปฏิบัติ ลด Content-based มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์บนหลักการมากกว่ามุ่งวิธีการที่เป็นขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล คือ แบบประเมินคุณธรรมจริยธรรมเชิงวิชาชีพ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ ผลการประเมิน แม้การดำเนินงานจะเป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้แต่ประสิทธิผลยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด (อยู่ระดับพอใช้ 60-69%) อย่างไรก็ตามการประเมินข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า นศ.มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ สื่อสารเชิงวิชาชีพได้ดีขึ้น สามารถประสานและทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้เหมาะสม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติงานในวิถีใหม่ที่แตกต่างจากเดิมแต่ยังอยู่ภายใต้หลักการ เช่น การทำเตียงรับผู้ป่วยโดยพับผ้าห่มรูปหัวใจเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยหลังกลับจากการผ่าตัด การใช้ QR code ให้ผู้ป่วยดาวน์โหลดเอกสารการให้ความรู้ซึ่งสามารถทบทวนได้ทุกที่ทุกเวลาที่ผู้ป่วยต้องการ เป็นต้น
4. สาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง และสนับสนุนสื่อวิดิทัศน์ หุ่น Simulator และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่นักศึกษา โดยอาจารย์ใช้เทคนิคสะท้อนคิดเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้และค้นหาคำตอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบจาก เกรด การแสดงความคิดเห็นและการอภิปรายของนักศึกษาในกลุ่มย่อย พบว่า ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เกรดของนักศึกษายังคงเดิม ยังต้องปรับปรุงเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ และเพิ่มสมรรถนะในการอภิปรายเชิงลึกให้กับนักศึกษา รวมทั้งการพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ยังไม่ชัดเจน
5. สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช พัฒนารูปแบบการสอนโดยผสมผสานหลายแนวคิดกับประสบการณ์การสอนภาคปฏิบัติที่ผ่านมา กับกรอบแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (4R+7C) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลใช้แบบประเมินคุณธรรมจริยธรรมเชิงวิชาชีพ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ โดยปรับข้อคำถามบางข้อให้เฉพาะเจาะจงในการประเมินสมรรถนะที่ต้องการ ผลการประเมินด้านสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังเห็นผลไม่ชัดเจน ต้องพัฒนาต่อไป
6. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ Project-based learning ในงานการพัฒนาชุมชนที่ดูแล โดยปรับบทบาทนักศึกษาให้เป็นผู้ริเริ่ม ผู้เลือก/ผู้ตัดสินใจ และผู้สอนเป็นผู้กระตุ้น ผู้ใช้คำถามให้นักศึกษาสะท้อนคิด และผู้ให้คำปรึกษา เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ โดยปรับข้อคำถามบางข้อให้เฉพาะเจาะจงในการประเมินสมรรถนะที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ด้านการเป็นผู้นำยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ นักศึกษายังคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่มีอาจารย์เป็นผู้กำหนด/บริหารจัดการในการสอนภาคปฏิบัติ ยังไม่มั่นใจที่จะริเริ่ม แสดงความเห็น กังวลเรื่องความถูกผิดและการสร้างสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน แม้จะมีแนวคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางกายพยาบาลที่เหมาะสมกับผู้รับบริการในชุมชนแต่ไม่สามารถเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนความคิดในการปรับพฤติกรรมของคนในชุมชนได้

          แม้แนวคิดเริ่มต้นในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาจะแตกต่างกันแต่ทุกรูปแบบมีแก่นของกระบวนการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาที่คล้ายคลึงกัน เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า แก่นของกระบวนการพัฒนานักศึกษาสอดคล้องตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential learning theory: ELT) ของ David A. Kolb ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติ ทบทวนและสะท้อนคิดสิ่งที่ปฏิบัติจนตกผลึกความคิด รับรู้ถึงความรู้ใหม่ที่ตนเองได้รับ และนำไปต่อยอดความรู้เดิมที่มีหรือนำไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่นๆ หมุนเวียนเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะถูกเปลี่ยนแปลง ขยาย ต่อยอดตลอดเวลา ทำให้นักศึกษาพบเจอความรู้ใหม่ๆ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การถอดบทเรียนเพื่อค้นหารูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของวิชาชีพในครั้งนี้ จึงมีรากฐานจากแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ผสานกับแก่นข้อมูลความรู้ที่ได้จากการอภิปรายในการเสวนา
       สามารถสรุปเป็นรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของวิชาชีพซึ่งคณะฯ จำเป็นต้องนำไปทดลองใช้ซ้ำในปีการศึกษาต่อไป โดยรูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เหมาะสมสามารถวาดเป็นแผนภูมิ ประกอบด้วยวงกลม 3 ชั้น แต่ละชั้นมีความสัมพันธ์กัน
1. วงกลมในสุด เป็นแก่นของกระบวนการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องเน้นที่ Core concepts มากกว่าวิธีการปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินของโรคมีการเปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้วิธีการปฏิบัติมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหลักการของการดูแลบุคคลทั้งในระยะส่งเสริม ป้องกัน ดูแล และฟื้นฟูยังคงเดิม นักศึกษาจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นแก่นของความรู้แท้จริงที่ถูกต้องแม่นยำ
2. วงกลมชั้นที่ 2 เป็นกระบวนการพัฒนานักศึกษาจากประสบการณ์ที่ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงแก่นความรู้ที่จำเป็นในวิชาชีพ และสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (ทักษะการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารทั้งเชิงวิชาชีพและสังคม การเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพให้กับผู้รับบริการ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล) โดยกระบวนนี้ประยุกต์มาจากแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ กระบวนการประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
    2.1 Experiencing เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ โดยอาจารย์ผู้สอนเลือก/กำหนดประสบการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรายวิชา ประสานบุคลากรสุขภาพในแหล่งฝึก และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงทั้งในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริง โดยอาจารย์มีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ/ผู้ให้คำปรึกษา/ผู้เอื้ออำนวย และใจเย็นอดทนรอ เพื่อให้นักศึกษาผ่านประสบการณ์ครั้งนี้ก่อนก้าวสู่ระยะที่ 2 ต่อไป
    2.2 Reviewing and Reflecting เป็นขั้นตอนที่นำประสบการณ์การปฏิบัติที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนจุดเด่น จุดด้อย ความรู้สึกของการปฏิบัติ ค้นหาแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติครั้งต่อไป ซึ่งนักศึกษาต้องดำเนินการทั้งในระดับของตนเอง และระดับกลุ่มเพื่อนที่ฝึกปฏิบัติผ่านช่องทางการ Post-conference ในแหล่งฝึก และสามารถสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่ม หากเป็นประเด็นที่ไวต่อความรู้สึกอาจพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนตามลำพัง ขั้นตอนนี้อาจารย์ผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นโดยใช้คำถามหรือใช้กระบวนการกลุ่มที่เหมาะสม ในบรรยากาศที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลาย ไม่กดดัน ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าอาจารย์เป็น safe zone ของนักศึกษา และแต่ละคนในกลุ่มเป็น safe zone ซึ่งกันและกัน เสริมพลังให้นักศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ช่วยให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง ชี้แนะช่องทางการไปถึงเป้าหมาย ยกตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติของนักศึกษา ช่วยให้นักศึกษารับรู้ว่า “การไม่รู้ ไม่ผิด” “การไม่รู้ ไม่ทำให้เสียหน้า” “ทุกวันที่ฝึกปฏิบัติ คือ วันแรกที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” นอกจากนี้อาจารย์ต้องไม่ตัดสินนักศึกษาว่า ถูก/ผิด ได้/ตก แต่ควรสนับสนุนและเปิดโอกาสและเป็นผู้ฟังที่ดี สอดแทรกทัศนคติหรือจริยธรรมในการดูแลตามโอกาสที่เหมาะสม และสร้างวัฒนธรรมของการ Respect ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างให้นักศึกษา “เกรงใจ แต่ไม่กลัว”
    2.3 Thinking and Concluding เป็นขั้นตอนที่นักศึกษาต้องไตร่ตรอง แยกแยะ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา เพื่อตกผลึกองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับในครั้งนี้ ขั้นตอนนี้อาจารย์มีบทบาทน้อยเนื่องจากการจัดวางองค์ความรู้ใหม่ต้องกระทำด้วยตัวของนักศึกษาเอง แต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน หรือบางคนอาจไม่สามารถสรุปความรู้ใหม่ที่เรียนรู้ได้เลย อาจารย์ควรติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษาแต่ละคน และชี้แนะแนวทางให้นักศึกษาบางคนเพื่อให้สามารถตกผลึกองค์ความรู้ด้วยตนเองให้ได้
    2.4 Acting (Tryout) เป็นขั้นตอนที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติซ้ำอีกครั้งบนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ตนเองค้นพบ จึงคล้ายกับเป็นการทดลองนำความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นไปใช้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่ อาจมีการปรับเปลี่ยนความรู้ที่ใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หมุนวนเป็นวงจรไม่สิ้นสุด และเกิดองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา แม้จะเป็นการปฏิบัติในทักษะเดิมก็ตาม
3. วงกลมชั้นที่ 3 เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการส่งเสริมให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด การถอดบทเรียนจากการเสวนาผลการนำรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาไปทดลองใช้ สรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลได้ดังนี้
    3.1 Flexibility หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมุ่งเน้นหลักการและผลลัพธ์ (เน้นหลักการ ไม่เน้นวิธีการ) ไม่ตัดสินถูกผิด เปิดโอกาสให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนและส่งเสริม/กระตุ้นให้นักศึกษาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยอาจารย์ช่วยปรับให้เป้าหมายของนักศึกษาเข้ากับวัตถุประสงค์ของวิชาและวิชาชีพ สร่างบรรยากาศให้ทุกคนทำงานประสาน ช่วยเหลือ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษารู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ในกระบวนการพัฒนาผู้เรียนจากประสบการณ์
    3.2 Consistency อาจารย์อดทน ใจเย็น ให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง อย่างไรก็ตามต้องมีเงื่อนเวลาและกำหนดระดับที่ชัดเจน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนทุกคนต้องเข้าใจและปฏิบัติในแนวทางเดียวกันด้วยความสม่ำเสมอ จริงจัง จนกลายเป็นค่านิยมที่ยึดถือ
    3.3 Empowerment อาจารย์สนับสนุนให้นักศึกษารับรู้สมรรถนะของตนเอง สนับสนุนให้คิดวิเคราะห์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลผู้รับบริการในเรื่องที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจในความสามารถของตนเอง สนับสนุนแหล่งประโยชน์/สื่อ/เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ผ่านวิธีการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับลักษณะวิชา เช่น การสร้างนวัตกรรม case method, project-based เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สื่อสารความคิด ให้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ฝึกตัดสินใจในขอบเขตของวิชาชีพ และการเป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี โดยอาจารย์ใช้คำพูด ท่าที ในการสร้างพลัง/เสริมแรงให้นักศึกษาก้าวไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง
    3.4 Safe zone creation ความรู้สึกปลอดภัยจะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์สามารถสร้าง safe zone ระหว่างอาจารย์-นักศึกษา นักศึกษา-นักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติงานร่วมกันได้โดย อาจารย์สนับสนุน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา/ให้กำลังใจเพื่อสื่อให้นักศึกษารับรู้ว่า “อาจารย์ช่วยเหลือ ไม่ใช่ประเมินได้-ตก หรือตัดสินถูก-ผิด” เป็น role model ทั้งทางวิชาชีพและการ respect ซึ่งกันและกัน (อาจารย์-นักศึกษา นักศึกษา-นักศึกษา อาจารย์-บุคลากรสุขภาพ นักศึกษา-บุคลากรสุขภาพ) ใจกว้าง ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ในทุกสถานการณ์ที่พบในแหล่งฝึก สร้างวัฒนธรรมการรับรู้ว่า “ความไม่รู้ ไม่ใช่ความผิด แก้ไขได้ด้วยการค้นคว้า” “ทุกวันที่ฝึกปฏิบัติ คือ วันแรกที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” “การปฏิบัติทั้งที่ไม่รู้ อาจทำให้เกิดความผิดที่ยากจะแก้ไข”

 

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

        ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แต่ละสาขาพัฒนาขึ้นเป็นไปตามความคาดหวังเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งหมด คือ สร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (ทักษะการตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารเชิงวิชาชีพและสังคม ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ภาวะผู้นำและการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง) อย่างไรก็ตามผลจากการถอดบทเรียนในการเสวนาครั้งที่ 5 ทำให้คณะฯ ได้ (ร่าง) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่น่าจะเหมาะสมกับบริบทการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของคณะฯ แต่ควรมีการดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้
1. เผยแพร่ (ร่าง) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณาจารย์ ทราบ เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน
2. พัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะด้านเทคนิคการสอนโดยใช้ Questioning, Reflecting กระบวนการกลุ่ม และเทคนิคการสร้างความรู้จากประสบการณ์
3. มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนดบันไดสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของแต่ละชั้นปี และปรับปรุงแบบประเมินผลการสอนภาคปฏิบัติ ให้ครอบคลุมสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สาขานำไปทดลองใช้
4. กำหนด/กระตุ้นให้ทุกสาขานำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ได้จากการถอดบทเรียน ไปทดลองใช้ เก็บรวบรวมข้อมูล และนำเข้าสู่การเสวนาครั้งต่อไป

ขณะนี้ ปิดระบบ IDP เพื่อประมวลผลข้อมูลปีการศึกษา 2566

X